Tuesday, July 13, 2010

มวยไทยลอกแบบจากต่างประเทศจริงหรือ ?

หลังๆมานี้ตัวผมเองได้ยินคนหลายคนพูดถึงว่า มวยไทยไปเอาวิธีการต่อสู้มาจากวิชาอื่นๆ เช่นยูโด ยิวยูสู ซาเวต คิกบ็อกซิ่ง มวยสากล จึงขอนำเอาข้อเขียนของปรมาจารย์เขตร ที่เขียนไว้ในปริทัศน์มวยไทย ให้ผู้อ่านได้พิจารณาดูกัน

การทำให้คู่ต่อสู้ล้ม
   เหตุใหญ่ของการล้มคอการเสียศูนย์หรือการทรงตัว ในวิชามวยไทยอาจแยกวิธีทำให้ปฎิปักษ์หรือคู่ต่อสู้ล้มเป็น ๒ ลักษณะ คือ ใช้กำลังแต่น้อย (ออมกำลัง) และใช้กำลังมาก (เมื่อแข็งแรงมาก)
   ชาวกรีกและชาวอินเดียเป็นพวกที่นิยมการทำให้ล้มด้วยกำลัง เพราะโครงร่างของเขาใหญ่โตเป็นส่วนมาก แต่คนไทยรูปร่างเล็ก มีความว่องไวเป็นสมบัติ ส่วนมากจึงถือเอาวิธีใช้กำลังน้อยเป็นแบบทำให้ล้ม เนื่องด้วยเหตุนี้คนไทยจึงมิได้เอาอย่างชาวกรีกและชาวอินเดียในการทำให้ ปฎิปักษ์ล้มแน่นอน ปัญหาจึงเหลืออยู่ว่า คยไทยเอาอย่างการทำให้ปฎิปักษ์ล้มมาจากใคร ? คนไทยเอาอย่างการทำให้คู่ต่อสู้ล้มมาจากชาวญี่ปุ่นตามที่มีผู้หลงเถียงเสียง แข็งจริงหรือ ?

มวยไทยลอกแบบมาจากต่างประเทศจริง หรือ ?

   ผู้เขียนขอเสนอแง่คิดว่า ระบบการชกต่อยตามแบบมวยไทยได้ปรากฏแพร่หลายมาแล้วตามหัวเมืองต่างๆ นับเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๔๐๐ ปีเศษ
   นายขนมต้มซึ่งนับว่าเป็นวีรบุรุษของบรรดานักมวยไทยตลอดมาจนกระทั่งบัดนี้ ก็ไม่มีโอกาสได้ฝึกทำให้คู่ต่อสู้ล้มมาจากชาวต่างประเทศ
   นอกจากนั้นหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี (ประมาณปี พ.ศ. ๒๑๗๑) ได้มีญี่ปุ่นประมาณไม่เกิน ๕๐๐-๖๐๐ คน เข้ามาค้าขายในประเทศไทย ขณะนั้น (พ.ศ. ๒๑๗๓) เกิดการเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดิน พระยากลาโหมราชเสนา ผู้สำเร็จราชการ ไม่มีความไว้ใจพวกญี่ปุ่น ออกอุบายว่าฝรั่งชาติฮอลันดาจะมาตีเมืองนครศรีธรรมราช แกล้งยกย่องออกญา (พระยา) เสนาภิมุข หัวหน้าญี่ปุ่น  ให้ไปครองเมืองนครศรีธรรมราชพร้อมด้วยญี่ปุ่นอาสาทั้ง ๕๐๐-๖๐๐ คน จึงอาจนับได้ว่าญี่ปุ่นหมดเมือง (กรุงศรีอยุธยา) หรืออาจเหลืออยู่ก็เฉพาะแต่พวกเข้ารีตไม่กี่คน ซึ่งจะกลับญี่ปุ่นก็ไม่ได้ พิเคราะห์ตามเหตุผลกันแล้ว มวยญี่ปุ่น หรือที่นิยมเรียกกันสมัยก่อนว่า "ยิวยิตสู" ไม่มีทางแพร่หลายในหมู่ชาวไทยในเวลาจำกัดเพียง ๓ ปี และครั้งกระโน้น พ่อปู่ทวดขนมต้มของพวกเราก็มีชื่อกระเดื่องมากกว่า ๕๐ ปีก่อนมีญี่ปุ่นในประเทศไทย
   เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ ได้มีชาวโปรตุเกสเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเมื่อราวๆปี พ.ศ.๒๐๑๖ (ก่อนญี่ปุ่น) ชาววิลันดาเข้ามาราวปี พ.ศ. ๒๑๔๑ ชาวอังกฤษเข้ามาราวปี ๒๑๕๕ และชาวฝรั่งเศาเข้ามาราวปี พ.ศ. ๒๒๐๕ พวกชาวอีหรอบ (คำคนโบราณที่เรียกชาวยุโรป) ทั้ง ๔ ชาติที่กล่าวนี้ไม่ปรากฎว่ามีชื่อเสียงในเชิงมวย ซึ่งทำให้คู่ต่อสู้ล้ม นอกจากตุ๊ยท้องและเตะก้น เพราะสวมเกือกหนาและหนัก ข้อนี้ก็อาจยืนยันได้เต็มตัวว่ามวยไทยมิได้ลอกแบบจากชาวยุโรป

มวยไทยใช้ร่างกายทุกส่วนอยู่แล้ว

   การต่อสู้แบบมวยไทยเราใช้ร่างกายทุกส่วน ท่อนบนใช้หัว (ถูกห้ามไปแล้ว) เป็นเหตุให้นายโนกูจิผู้อ้างตนว่าเป็นอาจารย์ "คิกบ็อกซิ่ง ยืนยันว่าแบบมวยไทยสู้ไม่ได้ ทั้งๆที่การใช้หัว (ของมวยไทยมีมาตั้งแต่นายโนกูจิยังไม่เกิด ใช้นิ้ว (บัดนี้สวมนวมจึงใช้ไม่ได้) หมัด ศอก และ ไหล่ ท่องล่างใช้ ตะโพก เข่า แข้ง หลังเท้า ฝ่าเท้า ปลายเท้า ส้นเท้า และตาตุ่ม

อนึ่ง เป้าหมายก็เรียงรายตั้งแต่กบาล หรือ กระหม่อม ตลอดถึงตีนโปรดลองหลับตาดูทีหรือว่าการชกต่อยต่อสู้แบบมวยไทยจะต้องไปเอา อย่างจากชาติใดอีกเล่า ? อย่าว่าแต่คนต่อคนเลย แม้แต่วัวและความเขาแค่หู ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 300 ปอนด์ เท่าม้าลายก็ยังทนอยู่ไม่ได้ ต้องล้มหากรู้วิธีมวยไทย (ใครไม่เชื่อลองสืบถามบรรดาลูกศิษย์รุ่นเก่าๆ ของท่านอาจารย์หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ ปรมาจารย์มวยไทย ยิวยิตสูของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยดูก็ได้)

มวยไทยมีทำมีแก้

    อีกประการหนึ่ง การชกมวยแบบไทยนั้น เรามีทำและมีแก้ เช่น นักมวยฝ่ายหนึ่งเตะสูง (หมายถึงตอนตั้งแต่บั้นเอวขึ้นไปถึงหัว) อันเป็นจุดเจ็บและจุดตาย มวยไทยเราอาจป้องกันหรืออาจจับขาพุ่งออกไปให้ล้ม เพราะเสียหลักหรือเสียศูนย์ จับขากระชากให้ล้ม แบกขาให้ล้ม หักขาให้ล้ม บิดขาให้ล้ม เตะขาให้ล้ม และ เหน็บให้ล้ม ไม้มวยไทยดังกล่าวมานี้ มีนักมวยไทยสมัยปัจจุบันเคยนำออกใช้บ้างไหม ? เคยลองให้ฝึกให้รู้จักใช้เมื่อถึงคราวจำเป็นบ้างไหม ? ที่ได้ยินกันบ่อยๆมักจะเป็น "ยูโด" กันเสียแหละมาก คำสองคำก็ "ยูโด"

เมื่อได้กล่าวถึงตอนนี้ นักคลั่งมวย (แฟนมวย) คงจะได้เคยเห็นผู้ตัดสินหลายท่านตำหนิมวยที่ใช้ตีนปัดขาคู่ต่อสู้ให้ล้ม ว่าใช้วิชา "ยูโด" เมื่อมวยไทยมีวิธีทำให้คู่ต่อสู้ล้มตายตั้งหลายแบบ รวมทั้งการขัดขาด้วย เช่นนี้แล้วจะมีเหตุผลประการใดที่จะมิให้ขัดขา เพื่อให้นักมวยฝ่ายที่กำลังทำอันตรายทำไม่สำเร็จเล่า ? ผู้เขียนจึงใคร่ขอความกรุณาให้ท่านผู้รู้ (วิชามวยไทย) และผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการมวยไทยได้โปรดพิจราณาด้วยความรอบคอบทั้งนี้ เพื่อเกีรยติภูมิของคนไทยทุกคนในเรื่องนี้ด้วย

สามารถหาอ่านข้อมูลอื่นๆได้จาก หนังสือปริทัศน์มวยไทย โดย ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัยครับ

ข้อมูลมวยไชยาที่ www.muaychaiya.com

หรืออีกที่ก็ที่ blog แห่งนี้ ^_^ ตามแต่เวลาที่ผมจะพอมีพิมพ์ให้ทุกท่านได้อ่านกันนะขอรับ สวัสดีครับ

No comments:

Post a Comment