Wednesday, July 7, 2010

มวยไทย Vs มวยไชยา อะไรดีกว่ากัน

มีคนเคยถามผมว่า นักมวยไทยปัจจุบันกับนักมวยไชยาปัจจุบัน ใครเก่งกว่ากัน ทำไมนักมวยไชยาถึงไม่มีการสร้างชื่อบนเวทีมวยไทย ถ้าให้ตอบตามตรง คงต้องบอกว่า นักมวยไทยอาชีพปัจจุบันแกร่งกว่ามากนัก

สาเหตุจากวัตถุประสงค์ของการฝึกต่างกัน ในอดีตนักมวยไชยามีการฝึกอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เนื่องจากเืพื่อป้องกันประเทศและเข้ารับราชการเ็ป็นทหาร สมัยนั้นการเป็นนักมวยเองก็ถือว่าสบาย มีการยกเว้นภาษี มีการมอบที่ดิน ทาสรับใช้ให้ เช่นกันเมื่อตั้งใจถือการเป็นนักมวยจริงจังย่อมไม่ว่างเว้นการฝึกฝน เพื่อเอาตัวรอดในสงคราม หรือ แสดงฝีมือในงานต่างๆ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านเปลี่ยนไป จากยุคคาดเชือกสู่ยุคสวมนวม การนำเอากฎกติกามวยสากลมาใช้กับกติกามวยไทย ก่อเกิดการตัดทอนวิชาการของมวยไทยลงไปมาก รวมถึงความสำคัญของวิชามวยเริ่มลดน้อยลง เพราะไม่มีใครอยากเอาเป็นอาชีพ ครูมวยในรุ่นต่อมาจึงไม่นิยมส่งลูกศิษย์ขึ้นเวทีชกมวยอีก ในยุคครูเขตรก็มีนักมวยที่มาฝึกในค่ายขึ้นแข่งขันบ้างเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการสอบวิชามากกว่า การชกเอาจริงจัง ครูทองเองก็เคยขึ้นแข่งตามเวทีต่างจังหวัด รวมถึงขึ้นแข่งที่ราชดำเนิน ลูกศิษย์ครูทองในค่ายไชยารัตน์ก็มีการส่งขึ้นแข่งในเวทีมวยไทยเพื่อสอบวิชาเช่นกัน แต่ในยุคต่อมาคือยุคครูแปรง ครูแปรงไม่ได้จัดตั้งค่ายมวยเพื่อส่งแข่งขันแต่อย่างใด ครูแปรงเปิดสอนเพียงหวังรักษาศิลปะการต่อสู้ของชาิติให้สืบทอดต่อไปได้ ผู้มาฝึกนั้นก็เป็นเพียง นักเรียน นักศึกษา นักธุรกิจ เด็ก ผู้หญิง ไม่ใช่นักมวย นักสู้ การฝึกฝนนั้นก็เพียงครั้งละ 2 ชม. อาทิตย์ละ 1-2 วันตามเวลาว่างที่จะมาฝึก ไม่ได้มาซ้อมแบบต่อเนื่อง และไม่ได้มีการแข่งขันใดๆ นอกเหนือการลงคู่ในสำนัก รวมถึงจำนวนผู้มาเรียนตั้งแต่ปี 2546 ที่เริ่มสอนที่สวนลุมก็มีเพียงจำนวน พันกว่าคนเท่านั้น

ซึ่งการฝึกมวยไชยานั้นเป็นการค่อยๆพัฒนารูปร่างของมวยและการบริหารร่างกายไปพร้อม จากนั้นฝึกซ้อมการป้องกันให้เคยชินก่อนจะเริ่มฝึกการออกอาวุธ จากนั้นจึงค่อยเข้าสู่กระบวนการเคลื่อนที่เดินมวย จึงค่อยลงคู่กันเพื่อฝึกทักษะและจิตใจ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาเรียนต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน - 1 ปีจึงจะครบหลักสูตรเบื้องต้นก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการฝึกฝนลูกไม้และเคล็ดมวยในขั้นต้น และที่ฝึกจนสอบสายได้ในขั้นแรกเองก็มีเพียงไม่ถึงร้อยคน ซึ่งการสอบสายได้ในขั้นต้นถือว่าสามารถป้องกันตัวได้ในระดับแรก

นักมวยไทยอาชีพในปัจจุบันมีการฝึกแตกต่างกันออกไป มวยไทยอาชีพนั้นตื่นแต่เช้าออกวิ่งสร้างกำลัง กลับมาถึงค่ายก็โดดเชือก ซิทอัพ วิดพื้น จากนั้นก็ลงกระสอบ ล่อเป้า ปล้ำเข่า เช้าบ่าย การซ้อมวันนึง 6 ชม. อาทิตย์นึง 6 วัน ด้วยว่าฝึกฝนเป็นอาชีพเพื่อเข้าแข่งขันในเวทีมวยไทย ซึ่งนักมวยนั้นก็มีจำเป็นต้องมีระเบียบวินัยในการซ้อมอย่างดี ระยะเวลาในการสร้างความอดทนเชี่ยวชาญนั้นต่อเนื่องตลอด เพื่อเข้าสู่เวทีการแข่งขัน ตั้งแต่เด็กจนเป็นวัยรุ่น บางคนต่อยเป็น 100 ไฟท์ ประสปการณ์รวมทั้งสภาพร่างกาย สภาพจิตใจนั้นก็ย่อมพัฒนาตามไปด้วย ทักษะการใช้ หมัด เท้า เข่า ศอก รวมถึงการปล้ำตีเข่า นั้นย่อมทับถมทวีคูณมาเรื่อยๆ รวมทั้งจำนวนผู้ฝึกมวยไทยนั้นมากกว่ามวยไชยาหลายเท่าตัวนัก กะคำนวณคร่าวๆเฉพาะในเมืองไทยก็คง ไม่ต่ำกว่าแสนแน่นอน แค่จำนวนผู้ฝึกฝนก็แพ้ขาดแล้ว ไม่ต้องรวมถึงชม.การฝึกฝนที่แตกต่างกันอย่างมาก

ถ้านับว่าผู้ฝึกมวยไชยาปัจจุบัน ศักยภาพไม่เท่า นักมวยไทยอาชีพนั้นย่อมเป็นความจริง เพียงแต่หากพูดถึงในเรื่องวิชา ก็ไม่ควรถือว่ามวยไชยานั้นอ่อนด้อยกว่ามวยไทย ด้วยว่าตามความจริงแล้วมวยไชยาเองก็ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของมวยไทยเช่นกัน ถ้าในความคิดของตัวผมเองนั้นก็ขอยืมคำพูดของพี่ขลุ่ย ซึ่งเป็นกลุ่มคนไทยยุคแรกๆที่นำเอามวยไทยไปเผยแพร่ที่สหรัฐอเมริกาว่ามวยไชยานั้น เป็นมวยไทยเต็มรูปแบบ

มวยไทยเต็มรูปแบบ หมายถึง มวยไทยที่เป็นศิลปะการต่อสู้ที่ไม่ได้ถูกตัดทอนด้วยกติกาจากกีฬาเช่นปัจจุบัน เรียกว่าก็ใกล้เคียงกับการจำลองการต่อสู้ในศึกสงคราม เพราะสามารถทำได้เกือบทุกอย่าง ไม่ว่าจะ ต่อยเตะเข่าศอก จับทุ่มหักล็อค ตามซ้ำ จู่โจมจุดอ่อนสำคัญอย่างเช่น ลูกตา กระเดือก กระโปก รูทวาร รวมถึงการกัด เพียงแต่ไม่นิยมทำกันนักด้วยถือว่าเป็นสัตว์เดรัจฉานจนเกินไป และการแข่งขันในสมัยนั้นยังไม่จำกัดน้ำหนัก อายุ แต่อย่างใด ถ้าจะว่าไปก็ใกล้เคียงกับ UFC ในยุคแรก หรือ valetudo ที่บราซิลในปัจจุบัน

แต่ก็แตกต่างกันตรงการเอาชนะ แล้วก็การจำกัดเวลา เพราะใน ufc ถ้าถูกน็อคจนสลบก็ถือว่าแพ้ แต่ในกติกามวยไทยเต็มรูปแบบ แม้สลบหรือบาดเจ็บ หากสามารถแก้ไขให้ฟื้นหรือทำการรักษาแล้วยังแข่งต่อ ก็ถือว่าแข่งต่อได้ จะยอมแพ้ก็ต่อเมื่อยอมแพ้กันจริงๆเท่านั้น ดังเช่นเมื่อครั้งนายปลอง จำนงทอง เมื่อสู้กับ มวยโคราช โดนเตะขณะรำมวยโดยไม่ทันได้รู้ธรรมเนียมว่า เมื่อเริ่มสัญญาญชกก็ต่อสู้กันได้ทันที สลบไป แต่เมื่อแก้ไขจนฟื้นกันขึ้นมาท่านเจ้าเมืองก็ถามว่าจะสู้ต่อหรือไม่ นายปลอง ก็ขอสู้ต่อจนสามารถใช้ท่าเสือลากหางเข้าจับทุ่มแล้วทับตามด้วยศอกและเข่าเข้าที่ท้องและลูกกระเดือกแต่มวยโคราชหลบทันจึงโดนเส้นคอพลิกรักษาไม่ได้ยอมแพ้ไป จนได้เป็นหมื่นมวยมีชื่อ จะเห็นได้ว่ากติกามวยไทยเต็มรูปแบบนั้นมีความอันตรายกว่ามวยไทยกีฬาในปัจจุบันมากนัก

ฉะนั้นความเข้มข้นของตัววิชาการที่ยังไม่ได้ตัดทอนมาเป็นกีฬาอย่างมวยไทยในปัจจุบันนั้นย่อมมีครบเครื่องกว่า มวยไทยปัจจุบันที่อนุญาติเพียง หมัด เท้า เข่า ศอก ไม่อนุญาติให้โจมตีจุดอันตราย รวมถึงการทุ่ม การทับ จับหักล็อค หรือ การต่อสู้บนพื้น หรือแม้กระทั่งตามซ้ำก็ยังถือว่าผิดกติกา สมัยก่อนนั้นแม้การล้มลง กรรมการก็ไม่ได้มีหน้าที่คอยช่วยประคองแต่อย่างใด เพราะถ้าหากว่ารับฝ่ายนึงทัน แต่อีกฝ่ายนึงไม่ทัน ก็ถือว่าเป็นการลำเอียงไป นักมวยจำเป็นต้องฝึกการล้มและการป้องกันการซ้ำเติมเมื่อพลาดพลั้งเอง

ผู้ฝึกหัดมวยไชยาในปัจจุบัน จึงมุ่งเน้นที่การฝึกเพื่อสืบทอดอนุรักษ์วิชาการที่ส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่นและเพื่อป้องกันตัวในยามฉุกเฉินมากกว่าเพื่อขึ้นแข่งขัน มีบ้างที่สอนในหน่วยตำรวจ ทหาร อย่าง หน่วยอรินทราช หน่วยซีล หรือ ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้าย เพื่อใช้สำหรับการจับกุม ซึ่งก็จะฝึกเป็นเฉพาะอย่างไป

หากอยากจะฝึกฝนเพื่อขึ้นแข่งขันนั้นในปัจจุบันคิดว่ามวยไชยาคงเหมาะกับเวทีการต่อสู้ที่ใช้กติกาแบบ mma มากกว่าจะแข่งขันในกติกาเวทีมวยไทยทั่วไปเพราะสามารถใช้วิชาได้เต็มที่โดยไม่ถือว่าเป็นลูกผิดกติกา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถือว่าได้เปรียบกว่ามวยไทยกีฬาในปัจจุบัน หากต่อสู้กันในกติกาดังที่ว่าหรือในสตรีทไฟท์ เพราะหากโดนกระทำให้ล้มลงอาจจะไม่สามารถป้องกันตัวได้ดีนัก ดังที่เคยเห็นในเวที mma ทั้งหลายและแม้แต่ที่โดนมวยจีนกีฬาอย่างซานต้าทุ่มจนแพ้ไป ผู้ฝึกมวยไชยาจากบ้านครูแปรงเองก็มีคนที่ไปขึ้นบนเวที mma เพื่อทดสอบตัวเองเช่นกัน เช่น พี่พงษ์(ลูกพระพาย) พี่โชติ(โชติ ยอดสมัย) พี่โอ๋(สมิงวายุ) ผม(EZ2DJ) เอริธ์(Hitman) พี่ปอ(คีรีเดช) และมีเหล่ารุ่นน้องอีกหลายคนที่จริงๆก็ยังไม่ควรรีบร้อนมาแข่งขันด้วยว่ายังไม่ผ่านการฝึกพอเพียง บางคนฝึกยังไม่ถึงปีด้วยซ้ำไป กลัวว่าจะบาดเจ็บไปแต่ก็ตามประสาวัยรุ่น ห้ามก็คงไม่ฟังครูก็ยอมให้ขึ้นไปหาประสปการณ์ ซึ่งกลุ่มผมเองก็เป็นรุ่นแรกที่ขึ้นสังเวียนในกติกาแบบนี้ตั้งแต่ยกเลิกคาดเชือกเมื่อ 80 กว่าปีมาแล้ว ก็เพียงหวังว่าจะแสดงศักยภาพของคนฝึกมวยไชยาให้ได้ชมกันบ้าง แม้รู้ดีว่าไม่อาจเทียบเหล่านักสู้มวยไชยารุ่นเก่าได้

ในช่วงต้นของการเรียนมวยของผมๆก็มาฝึกแบบคนทั่วไป วันเสาร์หรืออาทิตย์ต่อสัปดาห์ เรียนไปได้สัก 2 ปีก็เริ่มทำงาน เริ่มสร้างฐานะ ก็ว่างเว้นไป นานๆเข้ามาหาครูที พอจะขึ้นแข่งก็ไม่ได้มีเวลามาซ้อมมากนัก มาวิ่งๆเอากำลังและเข้าบ้านครูทบทวนวิชาและการแก้ไขท่าต่างๆเพียง 1 สัปดาห์ก่อนการแข่ง แต่ก็ถือได้ว่ายังพอนำเอาวิชามวยไชยามาใช้งานได้จนเอาชนะคู่ต่อสู้จนเป็นแชมป์ได้เช่นกัน โดยคู่ต่อสู้ที่ได้ต่อสู้ด้วยนั้นมี มวยสากล มวยไทย และ มวยปล้ำ

ครูทองท่านก็ฝึกมวยไทยกีฬามาก่อนจะได้เจอมวยไชยาจากอาจารย์เขตรและยังเคยขึ้นแข่งมวยไทยชนะเสือร้าย แปดริ้ว ครูแปรงเองก็ฝึกหัดมวยไทยกีฬามาก่อนจะได้เจอครูทอง แม้กระทั่งตัวผมเองก็ผ่านการฝึกมวยไทยมาก่อนจะเรียนมวยไชยา ฉะนั้นอย่าได้คิดว่าผู้ฝึกเรียนมวยไชยาจะกล่าวถึงมวยไทยโดยไร้ความเข้าใจ แต่ครูทั้งหลายนั้นได้ผ่านการพิจราณาแล้วถึงเลือกฝึกเรียน โดยสาเหตุที่สำคัญคือมวยไชยานั้นมีการป้องกันตัวที่ดีกว่ามวยไทยกีฬา และที่สำคัญ ครูแปรงเองก็ไม่เคยดูถูกนักมวยไทย รวมถึงวิชามวยไทย เพียงแต่เสียดายที่ปัจจุบันวิชาการได้หายไป หากนักมวยอย่าง สามารถ สมรักษ์ได้ฝึกมวยไชยา คงไปได้ไกลมาก และหากมีนักมวยไทยที่มีวินัยฝึกซ้อมมวยไชยาอย่างตั้งใจเหมือนเช่นฝึกมวยไทยกีฬาอย่างปัจจุบัน ซ้อมเช้าบ่ายวันละ 6 ชม. ฝึกซ้อม 6 วันต่อสัปดาห์ ใน 1-2ปี ก็เชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างชื่อในสังเวียนมวยไทยได้เช่นกัน

สุดท้ายอยากจะกล่าวคำสำคัญที่ครูแปรงเคยพูดให้ฟังเมื่อครั้งที่ผมเคยไปถามว่า ครูแปรง ว่าศิลปะการต่อสู้ใดเก่งที่สุดครับ ครูยิ้มๆแล้วตอบว่า "ถ้าสูงสุดสำหรับครูคือศิลปะการต่อสู้ที่เอาชนะกิเลสตัวเองได้นั่นแหละสูงสุด" แต่ถ้าตอบตามความอยากรู้ของเธอ ก็คงต้องบอกว่า "ศิลปะการต่อสู้นั้นฝึกเพื่อพัฒนาและปกป้องตัวเอง ผู้ฝึกทั้งหลายต่างวิ่งเข้าสู่ยอดเขาเดียวกันแต่คนละทาง วิชาใดถ้าฝึกจนเข้าใจแล้วก็เก่งทั้งนั้น อย่าหลงแค่ชื่อวิชาจงมั่นฝึกตัวเองเถอะ"

No comments:

Post a Comment